fonkm

การจัดการความรู้ด้านการพัฒนาบัณฑิต

 

การจัดการความรู้ สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

พันธกิจการพัฒนาบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์: การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative learning)

          ปัจจุบันสังคมทั้งโลกได้เข้ามาเชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และวิกฤตด้านต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างหนีไม่พ้น สถาบันการศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะทำให้มีทางออกจากสภาวะวิกฤติได้ คือการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง (Transformative learning) ได้พัฒนาโดย Jack Mezirow (2009) ผู้บุกเบิกและผู้นำทางความคิดด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อก้าวข้ามวิธีการแสวงหาความรู้ที่ให้ความสำคัญแต่เฉพาะตัวเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้แบบเดิม โดยเปลี่ยนแปลงให้เห็นถึงเป้าหมายและคุณค่าของการพัฒนาการเรียนรู้ที่แตกต่าง นำไปสู่การให้ความหมายใหม่ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น แยกความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น และบูรณาการความเข้าใจจากประสบการณ์ของตนอย่างแท้จริง

          คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ได้จัดทำโครงการจัดการความรู้ สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยมี ประเด็นการจัดการความรู้แยกตามพันธกิจ คือ พันธกิจด้านผลิตบัณฑิต พันธกิจด้านการวิจัยและนวัตกรรม และพันธกิจการพัฒนาองค์กร สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึง การจัดการเรียนรู้สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ในพันธกิจการผลิตบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ โดยมีประเด็นบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification) คือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative learning)

          การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสะท้อนคิดโดยเป้าหมายการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ในมุมมองด้านการศึกษาพยาบาลเพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตพยาบาลเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถนำการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติการพยาบาลได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพปัจจุบันที่มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลต่อความคาดหวังของผู้รับบริการจากการดูแลของพยาบาลวิชาชีพสูงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้เรียนต้องเปลี่ยนแปลงทั้งโลกทัศน์ (Affective Attributes) ความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Attributes) และพฤติกรรม (Psychomotor Attributes) คือการเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วนในทุกด้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อทั้งตัว (วิจารณ์ พานิช, 2558) ดังนั้นครูต้องใช้ความรู้หรือทัศนะต่อการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ต้องมีเป้าหมายสู่การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative learning)

          การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมีหลายทฤษฎีมาประกอบกัน จุดสำคัญคือ การพัฒนาทักษะในการนำเอากรอบแนวคิด ความเชื่อ ระบบคุณค่าของตนเองออกมาตรวจสอบ ประเมิน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ผ่านประสบการณ์ชีวิต ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนในที่สุดกรอบความคิดของตนเปลี่ยนแปลงไป การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งส่วนที่เป็นการเรียนรู้ภายในตัวคนเดียว และส่วนที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ดังนั้นอาจารย์พยาบาลผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative earning) มีความสามารถในการจัดสภาพการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ผ่านกระบวนการสะท้อนภายในตนเองเชิงวิพากษ์อย่างใคร่ครวญ (Critical self-reflection) (Mezirow, 2009)  สามารถดึงประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมเชื่อมโยงกับระบบความคิดใหม่ใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทันต่อวิกฤตการณ์ของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตลอดจนสามารถเรียนรู้ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพต่อไป (ทินกร บัวชู ณัฏฐ์ณาฑ์ สร้อยเพ็ชร ประภาพร เมืองแก้ว ปภาดา ชมภูนิตย์ และศิริพร ฉาทับ (2563) ซึ่งความท้าทายสำหรับอาจารย์ผู้สอน คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถในการนำตนเองไปสู่แหล่งข้อมูลความรู้อย่างรู้เท่าทัน ควบคู่ไปกับการคิดเชิงวิพากษ์และการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้องค์ความรู้และทักษะเชิงวิชาชีพไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Poohongthong C, 2018) และสามารถสร้างทีมสุขภาวะเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและสันตสุข โดยจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ (ละเอียด แจ่มจันทร์ รวิภา บุญชูช่วย และสุนีย์ อินทรสิงห์, 2557)

          คณะพยาบาลศาสตร์ ได้มอบหมายให้วิทยาลัยในสังกัด ดำเนินการจัดการความรู้ตามแผนของคณะ ฯ  โดยคณะอนุกรรมการการจัดการความรู้ ได้พัฒนาคู่มือการจัดการความรู้สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Management Manual to a Learning Organization) พร้อมถ่ายทอดและชี้แจงการใช้งานวิทยาลัย เพื่อให้วิทยาลัยใช้เป็นแนวทางกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) หลังจากแต่ละวิทยาลัยได้ดำเนินการแสวงหาความรู้ทั้งความรู้ในตัวบุคคลที่มีประสบการณ์ตรง (Tacit knowledge) และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ (Explicit knowledge) รวบรวม ประมวลและสรุปความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในวิทยาลัยแล้ว คณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM sharing) โดยเชิญวิทยากรจากวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ และวิทยากรจากภายนอก (Explicit knowledge) หลังจากนั้นได้จัดเวทีเผยแพร่ผลงานการจัดการความรู้ ระดับคณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมประกวดผลงานการจัดการความรู้ เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี กระบวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่คณะจัดขึ้น โดยคำนึงถึงบรรยากาศของการมีอิสระทางวิชาการ ทำให้ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice/ CoP) จากทุกวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เกิดความไว้วางใจ (Mutual trust) เต็มใจในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน Tacit knowledge ของตนออกมาอย่างไม่มีการปิดกั้น

          ผลการพิจารณาตัดสิน พบว่า มีกระบวนการจัดการความรู้ในพันธกิจผลิตบัณฑิต ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) 5 วิทยาลัย ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 3 ปี มีการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น จนเป็นแนวปฏิบัติที่ดี สมควรเผยแพร่ให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาต่อยอด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา

          จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า เทคนิคการสอนที่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง คือการสอนโดยใช้เทคนิคการสะท้อนคิด (Reflection) เป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้สังเกต ทบทวนความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำของผู้เรียนที่ผ่านประสบการณ์ประจำวัน และการคิดวิเคราะห์ตนเองอย่างมีวิจารณญาณ ก่อให้เกิดความเข้าใจ และเกิดการเรียนรู้ใหม่ นำไปสู่การพัฒนาและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียนจึงสังเคราะห์องค์ความรู้ที่สกัดจากผลงานทั้ง 5 เรื่องที่เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของบัณฑิตพยาบาล (Transformative learning) พบว่า ทั้ง 5 เรื่องนี้ ได้ส่งเสริมให้เกิดการสะท้อนคิด ครอบคลุมทั้ง 3 แบบคือ 1) สะท้อนคิดสิ่งที่ผู้เรียนรับรู้ รู้สึก คิด และทำ คือตอบคำถาม What (Content Reflection) 2) สะท้อนคิดว่าผู้เรียนรับรู้ รู้สึก คิด และทำอย่างไร คือการตอบคำถาม How (Process Reflection) และ 3) สะท้อนคิดว่าทำไมเราจึงรับรู้ รู้สึก คิด และทำ คือ การตอบคำถาม Why (Premise Reflection) (Mezirow, 2009) ผู้เขียนขอนำเสนอผลงานทั้ง 5 เรื่องตามลำดับดังนี้

แนวปฏิบัติที่ดีจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 1 รูปแบบการสอนให้ผู้เรียนเกิด Transformative Learning โดยใช้การ Reflection เพื่อพัฒนาสมรรถนะต่างๆ ของผู้เรียน (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา, 2566)

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ได้กำหนดนโยบายในการจัดการเรียนการสอนสู่การเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคนิคการสะท้อนคิด (Reflection) เพื่อพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตตามอัตลักษณ์บัณฑิตที่พึงประสงค์ของสถาบันพระบรมราชชนก ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ในรายวิชาภาคปฏิบัติการพยาบาลนำมาสู่การพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดี ในการพัฒนารูปแบบการสอนภาคปฏิบัติเพื่อให้ผู้เรียนเกิด Transformative learning และเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติรูปแบบการสอนภาคปฏิบัติเพื่อให้ผู้เรียนเกิด Transformative learning ในการพัฒนาพฤติกรรมการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

กรอบแนวคิดการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติสู่การเปลี่ยนโดยการสะท้อนคิดเพื่อพัฒนาสมรรถนะต่างๆ ของนักศึกษาพยาบาล นั้นดำเนินการตามแนวคิดทฤษฎีระบบ เชื่อว่า การจัดการเรียนรู้ที่ดี มี 4 ปัจจัย ดังนี้   

1. ปัจจัยนำเข้า  (Input)  วิทยาลัยฯ มีนโยบาย มีการเตรียมอาจารย์  อาจารย์พี่เลี้ยง ผู้เรียน รวมถึงแนวทางการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformation Learning) โดยใช้วิธีการสอน แบบสะท้อนคิด (Reflection) และแนวคิดจิตตปัญญา

2. ปัจจัยกระบวนการ (Process)  กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนั้นเพื่อพัฒนาสมรรถนะต่างๆ ของนักศึกษาพยาบาล โดยประยุกต์ใช้แนวคิดของหลายแนวคิดทฤษฎี ได้แก่ 1) หลักการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง 2)  แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา 3) สะท้อนคิด และ 4) แนวคิดการพยาบาลดวยหัวใจความเป็นมนุษย์

3. ปัจจัยการประเมินผล  ผลลัพธ์ (Output)

การประเมินผลลัพธ์ของแต่ละรายวิชา  ก็สามารถประเมินสมรรถนะตามที่รายวิชารับผิดชอบที่ต้องพัฒนาผู้เรียนเพื่อประเมินผลลัพธ์   การประยุกต์ใช้รูปแบบของครูสมาชิก CoP คือ สมรรถนะต่างๆ ของนักศึกษาพยาบาล ได้แก่  1) ทักษะการสะท้อนคิด 2) พฤติกรรมบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  3) ความรู้หลักการเขียนบทความวิชาการ 4) ทักษะการปฏิบัติการพยาบาลจิตเวช 5) คุณลักษณะพยาบาลจิตเวช 6) ความพึงพอใจในการร่วม CoP

4. การประเมินย้อน (Feedback) เมื่อประเมินผลลัพธ์แล้วก็สะท้อนผลและย้อนกลับสู่การพัฒนากระบวนการอย่างเป็นพลวัตร 

          คลังความรู้เรื่องรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) โดยใช้วิธีการสอนแบบสะท้อนคิด (Reflection) เพื่อพัฒนาพฤติกรรมการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนที่ได้จากกระบวนการจัดการความรู้ คือขั้นการสอนภาคปฏิบัติ ดังนี้ 1) ขั้นเตรียมทั้งนโยบาย ครู ผู้เรียน และสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ 2) ขั้นกระบวนการ ประกอบด้วย 2.1) Pre conference ตามหลัก 3R1A คือ ผู้สอน Reflection สะท้อนความคิด ความรู้สึกต่อการนำเสนอแผนการพยาบาลให้เหมาะสมกับเวลา; Reinforce เสริมแรงจูงใจเมื่อประยุกต์ใช้ความรู้ในการดูแลได้เหมาะสม;  Relax สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และ Advice ครูให้คำแนะนำส่วนที่ผู้เรียนบกพร่องด้วยความเข้าใจ  2.2) ขั้นดำเนินการสอนขณะปฏิบัติการพยาบาล ใช้หลัก 5R ได้แก่ Reflection ตั้งคำถามตามขั้น Reflection Relation สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้เรียน/ผู้ป่วยด้วยความเอื้ออาทรเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน Role Model ครูเป็นแบบอย่างแก่นักศึกษาในการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ต่อผู้รับบริการ Reinforce ครูเสริมแรงใจเมื่อประยุกต์ใช้ความรู้ในการดูแล และ Relax ครูสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย  2.3) ขั้น Post conference และประเมินผล ใช้หลัก 6R1F เพิ่มจากขั้นดำเนินการสอนขณะปฏิบัติการพยาบาล 2 หลักการคือ 1) Writing ให้ผู้เรียนเขียนสะท้อนคิด ความรู้สึกหลังจากฝึกปฏิบัติรายวัน/สัปดาห์ 2) Feeling ให้นักศึกษาพูดความรู้สึกดี-ไม่ดีต่อเหตุการณ์ที่จะต้องไปเผชิญในการฝึกปฏิบัติทั้งวัน

          แนวปฏิบัติที่ดีจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 2: “9C 4R 5Q APPLE Model” กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการจัดการสุขภาพชุมชนและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม, 2565)

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Learning/ CBL) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการเนื้อหาตามหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับชุมชนโดยใช้การปฏิบัติงานเป็นงาน ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจากสถานการณ์จริงในชุมชน ภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอน ผู้เรียน และกลุ่มคนในชุมชนในการจัดการสุขภาพชุมชนรวมทั้งเพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรในบริบทของความร่วมมือและการพึ่งพาอาศัยกันในการขับเคลื่อนการจัดการสุขภาพชุมชนและตอบสนอสงระบบสุขภาพชุมชน มีการขยายผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานสู่รายวิชาอื่นๆ และพัฒนาพื้นที่ชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้ วพบ.ศรีมหาสารคาม ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2561-2565 และสกัดองค์ความรู้เป็นรูปแบบในการจัดการเรียนการสอน ชื่อ “9C 4R 5Q APPLE Model โดยมีรายละเอียด ดังนี้

9C คือ กลยุทธ์สำคัญในการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อการเข้าถึงชุมชนและตอบสนองระบบสุขภาพชุมชนต้องคำถึงหลักสำคัญ 9 ประการ ได้แก่ 1) Context 2) Cognition 3) Caring 4) Communication 5) Cooperation 6) Creative 7) Culture 8) Critical self-reflection และ9) Critical discourse

4R คือ การสะท้อนคิดจากการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง ได้แก่ 1) Reflection before action 2) Reflection in action 3) Reflection on action และ 4) Reflection-beyond action

5Q คือ แนวคำถามกระตุ้นการสะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1) Question for Description 2) Question for Feelings 3) Question for Initial evaluation 4) Question for Critical analysis และ5) Question for Final evaluation and action plan

APPLE คือ ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) Analysis คือ ขั้นการศึกษา/วิเคราะห์ข้อมูลจากหลักสูตรและการศึกษาชุมชน 2) Preparing คือ ขั้นกำหนดรูปแบบวิธีการ กำหนดพื้นที่ชุมชนและการเตรียมชุมชน 3) Planning คือ ขั้นการออกแบบการเรียนรู้และแผนการเรียนรู้แบบใช้ชุมชนเป็นฐาน 4) Leaning and Reflecting คือ ขั้นเรียนรู้จากการปฏิบัติและการสะท้อนคิดระหว่างการปฏิบัติ และ 5) Evaluation คือ ขั้นกำกับติดตามประเมินผล การปรับปรุงพัฒนาและการสรุปผลการประเมิน

 

          แนวปฏิบัติที่ดีจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 3 การจัดการเรียนการสอนแบบ SBL: สอนด้วยหัวใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช, 2566)

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดการความรู้ เพื่อนำประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวอาจารย์และจากการทบทวนเอกสาร มาพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้สถานการณ์จำลองเสมือนจริงที่ให้ความสำคัญทั้งใจ ความคิด และทักษะการปฏิบัติ และนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากขึ้น สามารถพัฒนานักศึกษาเกิดการตระหนักรู้ในตนเอง เกิดความรู้ และพัฒนาการปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ SBL: สอนด้วยใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง 2) เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ SBL: สอนด้วยใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นการนำแนวคิดหลัก 4 แนวคิดที่สำคัญมาบูรณาการกัน เพื่อให้ได้รูปแบบที่พัฒนาทั้งใจ ความคิด ทักษะ และการตระหนักรู้ในตนเองของผู้เรียน ซึ่งประกอบด้วย การจัดการเรียนการสอนแบบสถานการณ์จำลองเสมือนจริง (SBL) หลักการและเทคนิคทางการพยาบาล  กระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง และแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ระหว่างปีการศึกษา 2564 - ปีการศึกษา 2565 (มีนาคม พ.ศ. 2565 – มีนาคม พ.ศ. 2566)

แนวปฏิบัติที่ดีจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 4 การจัดการความรู้เรื่องการส่งเสริมทักษะทางปัญญาผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning: SBL) (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี, 2566)

การจัดการความรู้เรื่องการส่งเสริมทักษะทางปัญญาผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning: SBL)ใช้กระบวนการดำเนินงานวงจรบริหารที่มีคุณภาพ ได้แก่ Plan (วางแผน), Do (ปฏิบัติ), Check (ตรวจสอบ) และ Act (การดำเนินการให้เหมาะสม) และการจัดการความรู้ตามขั้นตอนการทำงานการจัดการความรู้ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี ,2465) ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้จากสมาชิกชุมชน  นักปฏิบัติการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เป็นอาจารย์ทุกคนขององค์กรตามนโยบายของผู้บริหารสูงสุด จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรทั้งระบบออนไซด์(On-site) และระบบออนไลน์(On-line) จนได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะทางปัญญาผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning: SBL) นำมาใช้ในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนออกฝึกภาคปฏิบัติ การสอบนักศึกษาที่จบหลักหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และสอบรวบยอดชั้นปี ในนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 2 และ 3 

ผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ดังนี้ ร้อยละ 100 ของอาจารย์มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning: SBL) ร้อยละ 100 ของนักศึกษาที่มีการเรียนภาคปฏิบัติได้รับการส่งเสริมทักษะทางปัญญาผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning: SBL) ผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนฝึกภาคปฏิบัติ และวิทยาลัยได้แนวทางการส่งเสริมทักษะทางปัญญาผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยสถานการณ์จำลอง (Simulation Based Learning: SBL)

 

แนวปฏิบัติที่ดีจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 4 แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้แบบสะท้อนคิดในนักศึกษาพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์, 2566)

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ ได้นำการจัดการความรู้แบบสะท้อนคิดคือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสะท้อนคิดด้วยตนเอง (Self-reflection) เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและการปฏิบัติงานของตน ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางการพยาบาล เนื่องจากการสะท้อนคิดทำให้นักศึกษาได้ทบทวนตนเองทั้งความคิด ความรู้สึกและการกระทำ รวมทั้งประเมินศักยภาพตนเอง ค้นหาวิธีการพัฒนาตนเองและพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลให้ดีขึ้น โดยผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์และการวิเคราะห์ตนเองอย่างมีวิจารณญาณ โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ให้มีความสามารถในการจัดการเรียนแบบสะท้อนคิด เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เพิ่มกลยุทธ์กระตุ้นการคิดวิเคราะห์ การคิดด้วยภาพ Visual thinking strategic (VTS) เพื่อฝึกการเป็นคนช่างสังเกตไวต่อบริบท ซื่อสัตย์กับความรู้สึก เปิดใจกว้าง และความกล้าหาญในการบอกความเชื่อของตน และกลยุทธ์ฝึกสติเพื่อการเข้าใจตนเอง และฝึกให้มีการรับรู้ดี (Mind fullness) ด้วยวิธีการเดินจงกรม (Walking the labyrinth)

ผลลัพธ์  จากการทำวิจัยเรื่อง ผลของการจัดการเรียนรู้รูปแบบการสะท้อนคิดเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบ ในนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์ ผลการวิจัยพบว่า ก่อนการจัดการเรียนรู้รูปแบบการสะท้อนคิดร้อยละ 73.33 ของนักศึกษาพยาบาล มีระดับการคิดอย่างเป็นระบบอยู่ในระดับมาก หลังการจัดการ เรียนรู้รูปแบบการสะท้อนคิดร้อยละ 56.00 ของนักศึกษาพยาบาล มีระดับการคิดอย่างเป็นระบบอยู่ในระดับมากที่สุด  มีการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้แบบสะท้อนคิด เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน

          การจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 เรื่องดังกล่าวข้างบน ล้วนมีการจัดกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นการประเมินผลจากสิ่งที่ผู้เรียนได้แสดงให้เห็นถึงว่ามีความรู้ ทักษะและความสามารถ ตลอดจนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อันเป็นผลจากผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcomes) (Buathong S.2017)

 

เอกสารอ้างอิง

วิจารณ์ พานิช, 2558). การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning). มูลนิธิสยามกัมมาจล. กรุงเทพมหานคร.เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด.

ทินกร บัวชู ณัฏฐ์ณาฑ์ สร้อยเพ็ชร ประภาพร เมืองแก้ว ปภาดา ชมภูนิตย์ และศิริพร

ฉาทับ (2563). การจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง: ประยุกต์ใช้ในรายวิชาการบริหารและการจัดการทางการพยาบาล. วารสารพยาบาลทหารบก. 21(3), 20-28.

ละเอียด แจ่มจันทร์ รวิภา บุญชูช่วย และสุนีย์ อินทรสิงห์. (2557). การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยน: ถอดบทเรียนจากการเรียนการสอนสาขาพยาบาลศาสตร์. วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข.

Buathong S. Measurement and Assessment of Learning Skills in the 21st Century. Veridian E-Journal, Silpakorn University. 2017; 10(2): 1856-1867. (in Thai)

Poohongthong C. Transformative Learning: Challenges for instructors in Higher Education. Journal of Behavioral Science. 2018; 24(1):163-182. (in Thai)

Mezirow, J. and Edward, W (2009). Transformative Learning in Practice: Insight from Community, Workplace, and Higher Education.

{fullWidth}

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า