ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพที่ซับซ้อนจากเดิมมากยิ่งขึ้น
จากการเจ็บป่วยทั้งจากโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีปัญหาสุขภาพจากอุบัติเหตุ
ภัยพิบัติต่าง ๆ โรคจากการประกอบอาชีพ โรคจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ
และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชองประชากรที่เข้าสู่วัยสูงอายุ
ปัจจัยกระทบต่อสุขภาพเหล่านี้
ส่งผลให้รูปแบบการจัดการองค์กรสุขภาพและนโยบายสาธารณสุขเปลี่ยนแปลง
(ศิริพร สิงหเนตร จรวยพร ใจสิทธิ, วิชยา เห็นแก้ว,
2560) ประเทศไทยได้มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความมั่นคง
มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดระบบ ปรับทิศทาง
และพัฒนารูปแบบการส่งเสริมให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า
และสามารถก้าวเข้าสู่ยุคแห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพ
โดยนโยบายมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการสร้างนวัตกรรม
หรือที่เรียกว่า “value-based economy” เป็นการพัฒนาประเทศโดยใช้ฐานความคิด
3 แนวคิดคือ 1) การเปลี่ยนแปลงจากการผลิตสินค้าไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม
2)
การเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี
ความคิดเชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรมบริการ และ 3) การเปลี่ยนแปลงจากการเน้นที่ภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นที่ภาคบริการมากขึ้น
แผนอุดมศึกษาระยะยาว 15
ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560 -2574) มีเป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพอุดมศึกษาไทยเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ
สามาถปรับตัวสำหรับงานที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต
พัฒนาศักยภาพอุดมศึกษาในการสร้างความรู้และนวัตกรรม
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในโลกาภิวัฒน์
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แผนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (พ.ศ.2563-2565)
โดยกลุ่มภารกิจนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(ววน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ได้สะท้อนให้เห็นว่า การวิจัยเป็นพันธกิจที่สำคัญของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา
การประเมินความสำเร็จของการประเมินคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา
สามารถพิจารณาได้จากการเปรียบเทียบจำนวนบทความวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับชาติหรือระดับนานาชาติกับจำนวนอาจารย์ประจำ
และจำนวนทุนวิจัยที่ได้รับ
สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา
มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษาให้มีภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมด้านสุขภาพ
โดยสามารถพัฒนาตนเองตามแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมในแต่ละขั้นตอนของการสร้างนวัตกรรม
เริ่มตั้งแต่ระยะที่ 1)
การสร้างโอกาสและความคิด ผู้นำจะต้องสร้างแรงจูงใจ
สนับสนุนการค้นหาปัญหาหรือโอกาสที่จะต้องพัฒนา และจัดสรรทรัพยากร เวลา
บุคลากรเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินงาน 2) การค้นหาปัญหา
ผู้นำจะต้องสร้างความรู้ แนวคิด
หรือแนวปฏิบัติขององค์กรที่ได้จากปัญหาและอุปสรรคที่พยายามแก้ไขมาแล้ว
ผ่านการกระตุ้นทีมให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ ทำการทดสอบแนวปฏิบัติ 3)
การนำไปปฏิบัติ โดยผู้นำทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง และ 4)
การควบคุม
ผู้นำจะต้องสื่อสารกับองค์กรทั้งภายในและภายนอกเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่นวัตกรรมและเพิ่มพูนความรู้
ทักษะที่ทันสมัยให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา
(นงนุช หอมเนียม, 2563)
คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
มีแนวคิดการดำเนินการจัดการความรู้ คือ
การพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพ
นำไปสู่การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ อันจะช่วยผลักดันการบรรลุวิสัยทัศน์
เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลชั้นนำของอาเซียน สร้างกำลังคนทางการพยาบาลเพื่อชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2) การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาสุขภาวะของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
ได้จัดทำโครงการจัดการความรู้ สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
โดยมีประเด็นการจัดการความรู้แยกตามพันธกิจ คือ พันธกิจด้านผลิตบัณฑิต
พันธกิจด้านการวิจัยและนวัตกรรม และพันธกิจการพัฒนาองค์กร สำหรับหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนจะกล่าวถึง การจัดการเรียนรู้สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
ในพันธกิจการวิจัยและนวัตกรรม โดยกำหนดประเด็นการจัดการความรู้ (Knowledge
Identification) คือการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก
การตีพิมพ์เผยแพร่ และการพัฒนานวัตกรรมทางสุขภาพ
คณะพยาบาลศาสตร์
ได้มอบหมายให้วิทยาลัยในสังกัด ดำเนินการจัดการความรู้ตามแผนของคณะ ฯ
โดยคณะอนุกรรมการการจัดการความรู้
ได้พัฒนาคู่มือการจัดการความรู้สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge
Management Manual to a Learning Organization) พร้อมถ่ายทอดและชี้แจงการใช้งานแก่วิทยาลัย
เพื่อให้วิทยาลัยใช้เป็นแนวทางกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge
Management Process) หลังจากแต่ละวิทยาลัยได้ดำเนินการแสวงหาความรู้ทั้งความรู้ในตัวบุคคลที่มีประสบการณ์ตรง
(Tacit knowledge) และแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ (Explicit
knowledge) รวบรวม ประมวลและสรุปความรู้
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในวิทยาลัยแล้ว คณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
(KM sharing) โดยเชิญวิทยากรจากวิทยาลัยต่างๆ
ที่มีความเชี่ยวชาญ และวิทยากรจากภายนอก (Explicit knowledge) หลังจากนั้นได้จัดเวทีเผยแพร่ผลงานการจัดการความรู้ ระดับคณะพยาบาลศาสตร์
พร้อมประกวดผลงานการจัดการความรู้ เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี
กระบวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่คณะจัดขึ้น
โดยคำนึงถึงบรรยากาศของการมีอิสระทางวิชาการ ทำให้ชุมชนนักปฏิบัติ (Community
of Practice/ CoP) จากทุกวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน
รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เกิดความไว้วางใจ (Mutual trust) เต็มใจในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน Tacit knowledge ของตนออกมาอย่างไม่มีการปิดกั้น
ผลการพิจารณาตัดสินพบว่า
มีกระบวนการจัดการความรู้ในพันธกิจการวิจัย ประเด็นการวิจัย (Knowledge
Identification) คือการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก
และการตีพิมพ์เผยแพร่ มี 5 วิทยาลัย
และประเด็นการพัฒนานวัตกรรมทางสุขภาพ มี 5 วิทยาลัย
ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 3 ปี
มีการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น จนเป็นแนวปฏิบัติที่ดี
สมควรเผยแพร่ให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาต่อยอด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บรรลุประเด็นยุทธศาสตร์คือการสร้างความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาสุขภาวะของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
ผู้เขียนขอนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีด้านการวิจัย ตามลำดับ ดังนี้
เแนวปฏิบัติที่ดีด้านการวิจัยจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่
1
“3 ปี KM & CoP อย่างต่อเนื่องเพื่อลือเลื่อง
PROCESS INNOVATION RESEARCH ช่วยพิสูจน์และรับประกันเพื่อสร้างสรรค์
BEST PRACTICE (วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี,
2566)
วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า
จันทบุรี
ได้พัฒนาแนวทางในการเพิ่มทักษะการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้กับคณาจารย์ของวิทยาลัย
ฯ เพื่อให้ได้รับทุนสนับสนุนจากภายนอกมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการจัดการความรู้
เพื่อจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้คณาจารย์ทั้งที่เป็นนักวิจัยอยู่แล้ว และสร้างนักวิจัยหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
ช่วยให้สัดส่วนทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกเพิ่มขึ้น
ตลอดจนผลักดันผลงานวิจัยให้มีคุณภาพสูงขึ้น
สามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านเทคโนโลยีของสังคมและประเทศชาติได้
โดยการนำแนวคิดวงจรบริหารงานคุณภาพของ Dr. William Edward Deming ซึ่งประกอบด้วย 4
ขั้นตอนคือ 1) การวางแผน (Plan)
การปฏิบัติ (Do) ตรวจสอบ/การประเมินผล (Check) และการปรับปรุง (Act)
เพื่อให้เกิดกระบวนการที่ใช้ในการปรับปรุงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อเพิ่มสมรรถนะการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอกอย่างเป็นระบบ
โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเกี่ยวกับการเขียนโครงร่างวิจัย
ฯ อย่างต่อเนื่อง (Continuous improvement—CI) และทำวน Loop
ไปเรื่อย ๆ โดยนำผลลัพธ์ปี 64 มาปรับปรุงและพัฒนาในปี 65
ผลลัพธ์ คือ สัดส่วนเงินทุนวิจัยภายนอกต่อภายในเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 80: 20 จำนวนเงินทุนวิจัยภายนอกและเงินทุนวิจัยภายในคือ 1,828,869 บาท และ 482,484 ตามลำดับ มีจำนวนนักวิจัยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 13 ราย จำนวนโครงร่างวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยภายนอกเพิ่มขึ้นเป็น 5 ราย และมีแนวทางการเขียนโครงร่างวิจัยแบบมืออาชีพไปใช้ประโยชน์ทั้งในและภายนอกองค์กร
เแนวปฏิบัติที่ดีด้านการวิจัยจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 2 การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการระดับชาติและนานาชาติและการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายในและภายนอก (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เพชรบุรี, 2566)
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เพชรบุรี ได้ดำเนินงานการจัดการความรู้พันธกิจการวิจัยในปีงบประมาณ
2562- 2566 มีการจัดการความรู้ในประเด็น “การเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก”
อย่างต่อเนื่อง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์มีการรวมกลุ่มในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนภายนอก
หลังจากการทดลองใช้กระบวนการ PDCA
ในรูปแบบที่เรียกว่า I CAN DO Model ที่สร้างแรงจูงใจ
(Inspiration) มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นและนักวิจัยภายนอก
(Collaboration) มีการชื่นชม (Appreciation) ทำให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร (Norm) สร้างทีมงานที่มีทั้งนักวิจัยรุ่นใหม่
รุ่นกลางและรุ่นอาวุโส (Dream team) และมองหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน
(Opportunity)
ผลลัพธ์
คือ วิทยาลัย ฯ ประสบความสำเร็จโดยมีสัดส่วนทุนวิจัยภายนอก: ทุนวิจัยภายใน ดังนี้
82:28, 66:34, 67:33, 87.60:12.40, และ
82.90:17.10 และจำนวนเงินสนับสนุนงานวิจัยต่อจำนวนอาจารย์ประจำ≥ 50,000 บาทต่อคน ดังนี้ 51,403. 78, 59,668.02, 50,593.73, 50,834.12, และ63,356.25 บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปี 2561-2565
ตามลำดับ มีการเผยแพร่ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันภายในคณะพยาบาลศาสตร์
และสถาบันภายนอก
เแนวปฏิบัติที่ดีด้านการวิจัยจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่
3
แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากแหล่งทุนภายนอก
(วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
ราชบุรี,
2566)
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี ได้ปรับการวางแผนยุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2563- 2567 ของวิทยาลัย ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการวิจัยและสร้างผลงานวิชาการด้านสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของสังคม โดยกำหนดกลยุทธ์การยกระดับคุณภาพการผลิตผลงานวิจัยและผลงานวิชาการที่มีคุณภาพสูง และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการวิจัยเพื่อแสวงหาแหล่งทุนวิจัยจากภายนอก รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากแหล่งทุนภายนอก โดยใช้กระบวนการโค้ช (Coaching) จากพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์เพื่อสอบถามปัญหาอุปสรรค ให้คำปรึกษา กำหนดช่วงเวลาในการดำเนินงานร่วมกันอย่างชัดเจน และติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ
ผลลัพธ์ คือวิทยาลัย ฯ ได้รับทุนวิจัยจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น มีการเผยแพร่คู่มือการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากแหล่งทุนภายนอกผ่านเว็บไซต์ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากแหล่งทุนภายนอกกับทีมวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทรา ธิราช ในการเตรียมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม: อว.) และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย STIKes Payung Negeri Pekanbaru, Indonesia
แนวปฏิบัติที่ดีด้านการวิจัยจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่ 4 การเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนสนับสนุนจากภายนอกองค์กร (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี, 2566)
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา พ.ศ.2565-2569 และกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาลและสุขภาพเพื่อพัฒนาสุขภาวะชุมชน
สังคม และประเทศ มีการนำกระบวนการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน
พัฒนางาน พัฒนาคุณภาพ เพื่อให้เกิดผลดีต่อองค์กร จึงได้จัดการความรู้เรื่อง
“การเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนสนับสนุนจากภายนอกองค์กร” โดยวิทยาลัย ฯ
เป็นแกนนำในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อพัฒนาโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก
เชิญวิทยากรจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
และนักวิจัยที่มีประสบการณ์การเสนอโครงร่างวิจัยในการขอสนับสนุนทุนวิจัยจากภายนอกมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในและนอกสถาบัน
ผลลัพธ์ เกิด CoP ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก
ประกอบด้วย อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี จำนวน 35 คน และอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลและวิทยาลัยการสาธารณสุขอื่นๆ จำนวน 34
คน
มีโครงร่างวิจัยที่ได้รับทุนจาก สวรส. จำนวน 10
เรื่อง เป็นเงิน 19,450,750 บาท
แนวปฏิบัติที่ดีด้านการวิจัยจากผลงานการจัดการความรู้เรื่องที่
5
การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยในการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก
(วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช,
2566)
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช
กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่
2 เป้าประสงค์ที่ 5 คืออาจารย์มีความเชี่ยวชาญในการสร้างงานวิจัย ผลงานวิชาการ
นวัตกรรมทางด้านสุขภาพและการศึกษาพยาบาล และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก
มีการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของอาจารย์ในการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก
โดยนำแนวคิดการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานด้านกระบวนการภายในองค์กร
และแนวคิดการถอดบทเรียนมาใช้ในการพัฒนา ประยุกต์ใช้ Model ADKAR ซึ่งใช้หลักการแนวคิดในการเตรียมความพร้อมองค์การสู่การเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นไปที่
“คน” Hiatt
ได้แบ่งองค์ประกอบในการสร้างความสำเร็จให้แก่การบริหารการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 5
องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลง (A:Awareness) 2)
ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง (D : Desire) 3) การมีความรู้ (K
: Knowledge) 4) การมีความสามารถทำได้ (A : Ability) 5) การเสริมกำลัง (R : Reinforcement)
ผลลัพธ์ มีการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก จำนวน
2
เรื่อง จำนวน 3,197,990 บาท และได้พัฒนา Model
ในการเขียนโครงร่างวิจัยเพื่อขอทุนภายนอก 1 โมเดล
เอกสารอ้างอิง
นงนุช หอมเนียม.
(2563).
แนวคิดภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมด้านสุขภาพในวิชาชีพการพยาบาล.
วารสารการแพทย์ โรงพยาบาลอุดรธานี. 28(3): 244 – 253.
วิไลพรรณ ตาริชกุล, เกรียงไกรยศ พันธุ์ไทย. (2560). กระบวนการจัดการความรู้ เพื่อสร้างองค์การนวัตกรรม. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร. 8(2): 271-279.
ศิริพร สิงหเนตร, จรวยพร ใจสิทธิ, วิชยา เห็นแก้ว. (2560). ภาวะผู้นําการพยาบาลในศตวรรษที่ 21. วารสารนเรศวรพะเยา.
10(1):17-22.
Thailand 4.0 https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/
dwnt/mjgy/~edisp/uatucm282681.pdf
Bandura, A.,
& Walters, R. H. (1977). Social learning theory (Vol. 1). Prentice
Hall: Englewoodcliffs. Moen, R., & Norman, C. (2006). Evolution of the
PDCA cycle. 5STARCooks
203.157.7.7/KM/doc/handbook_2549.pdf (2021, 27 October)